เลื่อยฉลุ เป็นเครื่องมือไฟฟ้าอีกชนิดหนึ่งที่ออกแบบมาเพื่อใช้เลื่อยไม้แนวตรง โดยด้านหัวเครื่องจะมีแกนเหล็กกลมที่สามารถเลื่อน (ช่วงชัก) ตามความเร็วที่ออกแบบไว้ ส่วนที่ปลายเหล็กแกนจะมีชุดจับยึดใบเลื่อย ตัวเครื่องจะติดตั้งแท่นรองรับตัวเครื่องตรงบริเวณ หัวเครื่องใกล้กับตําแหน่งของใบเลื่อย
ส่วนประกอบของ เลื่อยฉลุ
- ตัวเครื่อง ทําจากวัสดุโพลิเมอร์ที่เป็นฉนวนป้องกันไฟฟ้ารั่ว
- ด้ามจับ ที่ได้ถูกออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของตัวเครื่อง
- สวิตช์เปิด-ปิดเครื่อง จะอยู่ใต้ด้ามจับในตําแหน่งนิ้วชี้ซึ่งจะทําให้ใช้มือจับที่ด้าม พร้อมกับใช้นิ้วชี้กดสวิตช์เพื่อเปิดเครื่องได้พร้อมกัน
- หัวจับยึดใบเลื่อย จะเป็นส่วนที่ต่อจากปลายแกนเหล็กสามารถเคลื่อนที่ในแนวดิ่ง (ขึ้น-ลง)
- ล้อรับหลังใบเลื่อย เป็นชิ้นส่วนที่ใช้รับหลังใบเลื่อยเพื่อคอยประคองและป้องกัน ใบเลื่อยในขณะเดินเครื่อง
- แท่นเครื่อง ทําด้วยโลหะติดตั้งอยู่ใต้ตัวเครื่องบริเวณส่วนหน้าเพื่อใช้รองรับตัวเครื่อง ซึ่งสามารถปรับเอียงเป็นมุมในการใช้งานได้
- ปุ่มปรับใบเลื่อย เพื่อให้ใบเลื่อยสะบัดไปข้างหน้า เพื่อการเลื่อยไม้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และรวดเร็วขึ้น
ใบ เลื่อยฉลุ
ใบเลื่อยฉลุแบ่งออกเป็น 2 ชนิดตามลักษณะการติดตั้ง ดังต่อไปนี้
- ใบเลื่อยฉลุแบบU-Shank เป็นก้านเลื่อยฉลุที่โค้งเว้าเข้าใบเลื่อย ในปัจจุบันยังมีบางยี่ห้อที่ยังใช้ใบเลื่อย U-Shank เช่น Pumpkin เพราะบางครั้งจำเป็นต้องใช้เครื่องมือช่วยเมื่อต้องการเปลี่ยนใบเลื่อย
- ใบเลื่อยฉลุแบบ T-Shank เป็นที่นิยมใช้ในปัจจุบันสามารถใช้ได้กับเลื่อยฉลุหลายยี่ห้อ และยังสามารถเปลี่ยนใบเลื่อยฉลุได้เลย ไม่ต้องใช้เครื่องมือช่วย
การใช้งาน เลื่อยฉลุ
เลื่อยฉลุถูกออกแบบมาให้สามารถใช้งานได้หลายลักษณะ เช่น การเลื่อยฉลุลวดลาย ส่วนโค้ง ส่วนเว้า เลื่อยตัดไม้ ซอยไม้ เลื่อยตัดวัสดุแผ่นใหญ่ชนิดต่างๆ ที่มีความ ไม่มากนัก และเลื่อยตัดวัสดุชนิดอื่นๆ ได้อีก เช่น พลาสติก โลหะ ไม้เทียม ซึ่งต้องใช้ใบเลื่อยให้เหมาะสมกับเนื้อวัสดุ
ความปลอดภัยในการใช้ เลื่อยฉลุ
- ตรวจสอบตัวเครื่องสวิตช์ สายไฟฟ้า และเต้าเสียบ ก่อนการปฏิบัติงานทุกครั้ง
- ระวังไม่ให้มืออยู่ในแนวการตัดของใบเลื่อย
- ในขณะเลื่อยต้องแน่ใจว่าได้วางแท่นเลื่อยลงบนชิ้นงานอย่างมั่นคงแล้ว
- ตรวจสอบว่าใบเลื่อยได้ถูกยึดอย่างมั่นคงแล้ว
- ก่อนวางเครื่อง ควรปิดสวิตช์รอให้เครื่องหยุดนิ่งเสียก่อน
- ไม่ควรกดบังคับ บิด หรือหมุนตัวเครื่องอย่างรวดเร็วในขณะที่เครื่องกําลังทํางานอยู่
- ทําความสะอาดเครื่องหลังเลิกปฏิบัติงานแล้วทุกครั้ง
- ไม่ควรยืนในที่เปียกชื้นในขณะเปิดสวิตช์และใช้งานเลื่อยฉลุ
การบํารุงรักษา
- ควรตรวจสอบสายไฟฟ้า เต้าเสียบ และสวิตช์ ถ้าหากมีส่วนใดชํารุดให้รีบซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดี พร้อมใช้งาน
- ใช้เครื่องมือไฟฟ้าให้เหมาะสมกับงาน และไม่ใช้ทํางานหนักมากเกินไป
- หยอดน้ํามันหล่อลื่นในส่วนที่เป็นจุดหมุนหรือตามคําแนะนําในคู่มือ
- หลังเลิกปฏิบัติงาน ควรทําความสะอาดเครื่องทุกครั้ง ถ้ามีส่วนที่เป็นสนิม ควรใช้ผ้าชุบน้ํามันเช็ดเพื่อป้องกันสนิม