เลื่อยวงเดือน เป็นเครื่องมือไฟฟ้าที่ใช้งานได้สะดวกในงานตัดไม้หรือซอยไม้ ลักษณะการปฏิบัติงานส่วนใหญ่ชิ้นงานหรือไม้จะต้องถูกยึดให้อยู่กับที่ ผู้ปฏิบัติงานจะต้องใช้มือจับเครื่องเลื่อยเคลื่อนที่เข้าตัดไม้หรือซอยไม้
ส่วนประกอบของ เลื่อยวงเดือน
ตัวเครื่องเป็นวัสดุที่มีความแข็งแรง ทนทาน แกนยึดใบเลื่อยจะถูกขับให้หมุนโดยตรงจากมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นไฟฟ้ากระแสสลับที่ใช้ตามบ้านทั่วไป ที่ด้ามจับจะมีสวิตช์เปิด-ปิดอยู่ เพื่อให้สะดวกในการใช้งานแท่นของเลื่อยวงเดือนจะยึดติดกับโครงเลื่อยวงเดือนสามารถปรับเลื่อนและเอียงเพื่อการตัดเอียงเป็นมุมต่างๆ ได้ ครอบคลุมใบเลื่อย (Blade Guard) จะมี 2 ส่วน ส่วนบนจะถูกยึดติดแน่น ส่วนล่างจะสามารถเคลื่อนที่ขณะตัดไม้ได้ และจะเลื่อนกับตําแหน่งเดิมเมื่อตัดไม้ขนาดแล้ว
การใช้ เลื่อยวงเดือน
เราสามารถใช้เลื่อยวงเดือนในการปฏิบัติงานได้หลายลักษณะ เช่น การตัดขวางเสี้ยน (Cross Cutting), การซอย (Ripping), การตัดมุมเอียง (Cutting Bevels), การซอยเอียงและการตัดไม้หรือวัสดุแผ่นใหญ่ มีขั้นตอนง่ายๆ ดังต่อไปนี้
- ปรับความลึกในการตัดและมุมการตัดของใบเลื่อยให้ถูกต้อง
- วางเลื่อยวงเดือนโดยให้แท่นส่วนหน้าวางบนไม้ เล็งให้ใบเลื่อยตรงกับแนวการตัด โดยไม่ให้ใบเลื่อยสัมผัสกับไม้ เปิดเลื่อยวงเดือนรอให้ใบเลื่อยหมุนให้เต็มที่ก่อนจึงค่อยๆ ดันเลื่อยเข้าตัดไม้ช้าๆ โดยให้ใบเลื่อยตรงกับแนวที่กําหนดไว้
- เมื่อไม้ขาด ปิดเครื่อง และรอให้ใบเลื่อยหยุดหมุนก่อนจึงยกเลื่อยออกจากไม้
การตัดขวางเสี้ยนไม้ (Cross Cutting)
ด้วยเลื่อยวงเดือน จะต้องใช้ดินสอขีดเส้นให้เป็นแนวการตัดเสียก่อน หากแนวการตัดไม้ไม่กว้างมากนัก เช่น ระยะไม่เกิน 3 นิ้ว ก็อาจจะใช้เลื่อยวงเดือนตัดไม้ด้วยมือ (Freehand) ได้เลย โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วย แต่ถ้าแนวการตัดนั้นมีความยาวมาก เพื่อความแน่นอนควรจะต้องใช้ฉากตายหรือฉากจันทันช่วยเป็นแนวในการตัด โดยใบฉากจะทําหน้าที่คล้ายรั้ววัดระยะจากใบเลื่อยถึงริมแท่นเครื่องยึดฉากให้แน่นกับไม้ วางส่วนหน้าของแท่นบนไม้ให้ใบเลื่อยตรงกับแนวตัด เปิดเครื่องจนใบหมุนเต็มที่ก่อนจึงค่อยๆ ป้อนเลื่อยวงเดือนเข้าตัดไม้อย่างช้าๆ จนไม้ขาดแล้วปิดเครื่อง รอให้ใบเลื่อยหยุดหมุนก่อนจึงยกเครื่องออกจากไม้
การซอยไม้ (Ripping)
หมายถึงการตัดไม้ขนานเสี้ยนจําเป็นต้องมีรั้ว (Fence) ช่วยในการซอย เพื่อความแน่นอน สะดวก และปลอดภัยขึ้น รั้วที่นํามาช่วยในการซอยนี้อาจทําด้วยไม้ที่มีความกว้างพอที่จะยึดด้วยแคลมป์ได้แน่นและยาวมากพอตลอดความยาวของไม้ที่จะซอย การปรับรั้วจะต้องวัดจากใบถึงขอบรั้วตามขนาดความกว้างของงานที่ต้องการจะซอยและยึดรั้วให้แน่นกับไม้ที่จะซอย แล้ววางเครื่องโดยให้ใบเลื่อยตรง กับแนวการซอยแล้วเปิดเครื่องและเริ่มซอยไม้ตามขั้นตอน
ข้อควรระวัง การใช้เลื่อยวงเดือนสิ่งสําคัญจะต้องระวังเรื่องสายไฟฟ้าที่อาจจะกีดขวาง หรืออย่าให้อยู่ในแนวการตัดของใบเลื่อย
การเปลี่ยนใบ เลื่อยวงเดือน
ใบเลื่อยวงเดือนจะใช้ใบเลื่อยลักษณะเดียวกันกับใบเลื่อยที่ ใช้ในเลื่อยวงเดือนและเครื่องเลื่อยรัศมี เพียงแต่ขนาดจะเล็กกว่าเท่านั้น การเปลี่ยน ใบเลื่อยวงเดือนมีขั้นตอนง่ายๆ ดังต่อไปนี้
- ปลั๊กของเลื่อยวงเดือนจะต้องไม่เสียบไว้ และสวิตช์จะต้องอยู่ในตําแหน่งปิด
- เลื่อนครอบคลุมใบเลื่อยตัวล่างให้อยู่ในตําแหน่งเปิด
- ใช้มือกดปุ่มล็อคใบเลื่อยไม่ให้หมุน
- ใช้มืออีกข้างจับประแจที่มีขนาดเดียวกับฝาประกับใบเลื่อยคลายนอตฝาประกับค่อยๆ ถอดใบเลื่อยเดิมออกจากเครื่อง
- ใบเลื่อยใหม่ที่มีขนาดและชนิดฟันที่ต้องการใส่เข้ากับแกนยึดใบเลื่อย โดยสังเกตให้ฟันใบเลื่อยชี้ไปด้านหน้าลักษณะสวนกับทิศทางการหมุน
- ขันล็อตนอตฝาประกบใบเลื่อยให้แน่น และปล่อยครอบคลุมใบเลื่อยอยู่ตำแหน่งเดิม
ความปลอดภัยในการใช้ เลื่อยวงเดือน
- สวมแว่นตานิรภัยในขณะปฏิบัติงาน
- ในขณะเปลี่ยนใบเลื่อยหรือปรับตั้งแท่นเครื่องต้องไม่เสียบปลั๊กไว้
- พยายามเก็บสายไฟฟ้าของเลื่อยวงเดือนให้ห่างจากแนวการตัดของใบเลื่อย
- ขณะปฏิบัติงานควรจับเลื่อยวงเดือนและยืนในท่าที่มั่นคง
- ไม่ยกเลื่อยวงเดือนออกจากไม้ที่ตัดขาดแล้ว จนกว่าจะปิดเลื่อยวงเดือนและให้ใบเลื่อยหยุดหมุนก่อน
- ชิ้นงานหรือไม้ที่จะตัดหรือซอยจะต้องถูกจับยึดให้แน่นหนา
- ปรับใบเลื่อยให้มากกว่าความหนาของไม้ที่จะตัดประมาณ ⅛ ถึง ⅜ นิ้ว